ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณเป็นกุญแจสำคัญสู่ความเป็นตัวตนของคุณ การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของคุณนั้น มีความสำคัญพอๆ กันกับการปิดล็อกประตูหน้าบ้านของคุณเลยทีเดียว
คุณทราบหรือไม่ ว่าคุณจำเป็นต้องป้องกันอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง? ชมวีดิโอของเรา และทำให้การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของคุณเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคุณด้วย
Media:Protect your personal information (Thai) ปกป้องดูแลข้อมูลส่วนตัวของท่าน
https://tv.ato.gov.au/ato-tv/media?v=bd1bdiunw17mqcExternal Link (Duration: 1:47)
วีดิโอนี้มีความความยาวประมาณ 106 วินาที กดปุ่ม Play บนภาพ เพื่อชมหรืออ่านสำเนาข้อความ สำเนาข้อความมีให้เป็นภาษาไทย
อาชญากรรมข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไร?
อาชญากรรมข้อมูลส่วนบุคคลเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนใช้ข้อมูลแสดงตัวตนที่ขโมยมาในการควบคุมจัดการ หรือปลอมแปลงตัวตน เพื่อประกอบการทุจริตหรือก่อคดีอื่นๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการสร้างข้อมูลแสดงตัวตนใหม่ ข้อมูลแสดงตัวตนปลอม หรือใช้ข้อมูลที่ขโมยมาไปปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่น
อาชญากรสามารถเริ่มใช้ข้อมูลแสดงตัวตนของคุณ โดยใช้รายละเอียดเบื้องต้นบางอย่าง เช่น ชื่อ วันเดือนปีเกิด และที่อยู่ หากข้อมูลแสดงตัวตนของคุณถูกขโมยไป คุณอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด และคุณอาจต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน คุณอาจต้องประสบกับปัญหาด้านการหางาน การขอเงินกู้ การเช่าบ้าน หรือแม้แต่การไปขอใช้บริการหรือรับสวัสดิการจากรัฐบาลก็เป็นได้
อาชญากรข้อมูลส่วนบุคคล สามารถขโมยรายละเอียดของผู้อื่นได้โดย
- ขโมยกระเป๋าถือ กระเป๋าเงิน พัสดุไปรษณีย์ หรือโทรศัพท์มือถือ
- รื้อค้นถังขยะ
- สอบถามหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (TFN) ของคุณ โดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดหางานแบบปลอมๆ
- อ่านสิ่งที่คุณแชร์ไว้ในเครือข่ายโซเชียลทางออนไลน์
- สอบถามในขณะที่แกล้งปลอมเป็นหน่วยงานจากรัฐบาล หรือธนาคาร และยื่นข้อเสนอเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คุณ ในการกรอกแบบฟอร์มขอคืนภาษี หรือเอกสารทางราชการอื่นๆ
- ล่อให้คุณคลิกไปที่ลิงค์บนเว็บไซต์หรืออีเมลที่สามารถตรวจจับรายละเอียดของคุณได้
อาชญากรยังสามารถใช้ข้อมูลแสดงตัวตนของคุณที่ขโมยไป เพื่อ
- มาใช้ชีวิตในออสเตรเลียในฐานะพลเมือง
- เข้าถึงบัญชีธนาคารของคุณ และซื้อของโดยใช้บัตรเครดิตของคุณ
- หลีกเลี่ยงการชำระภาษี เงินช่วยเหลือบุตร หรือการจ่ายเงินคืนสำหรับโครงการเงินกู้เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (HELP)
- ขโมยเงินซุปเปอร์ของคุณ
- สมัครขอรับสวัสดิการจากรัฐบาล
- ขายบ้านของคุณ
- หลีกเลี่ยงการไปปรากฏตัวที่ศาล หรือการจำคุก
คำแนะนำจากกรมสรรพากร เพื่อการป้องกันข้อมูลแสดงตัวตนของคุณ
1 ให้ทราบว่าควรจะป้องกันอะไรบ้าง
ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็นตัวตนของคุณ คุณทราบหรือไม่ ว่าคุณจำเป็นต้องป้องกันอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง?
ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ ได้แก่
- ชื่อเต็ม
- วันเดือนปีเกิด
- ที่อยู่ปัจจุบัน
- หมายเลขบัญชีธนาคาร
- รายละเอียดบัตรเครดิต
- หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (TFN)
- รายละเอียดใบอนุญาตขับขี่
- รายละเอียดหนังสือเดินทาง
2 คุณควรแชร์ข้อมูลของคุณหรือไม่?
คุณควรแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณกับคนที่คุณไว้วางใจ หรือกับองค์กรที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลนั้นอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น
โจรที่ขโมยข้อมูลส่วนตัว บางครั้ง สามารถหลอกให้คุณมอบรายละเอียดได้ โดยอ้างว่าคุณชนะการชิงรางวัล หรือหลอกอ้างว่าเป็นตัวแทนของมูลนิธิและมาขอเงินบริจาคจากคุณ
3 เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในสถานที่ปลอดภัย
หลีกเลี่ยงการพกพาเอกสาร เช่น สูติบัตร หรือหนังสือเดินทางในกระเป๋าเงิน หรือกระเป๋าสะพาย ยกเว้นคุณจำเป็นต้องใช้เอกสารเหล่านั้น อย่าเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี รหัสลับ และรหัสผ่านที่เป็นหมายเลขต่างๆ ไว้ในมือถือของคุณ
อย่าวางหนังสือจดทะเบียนต่างๆ ทะเบียนรถที่หมดอายุ ใบเรียกเก็บเงินค่าสาธารณูปโภค หรือกุญแจบ้านสำรอง ในช่องเก็บของหน้ารถของคุณ แม้ว่าจะเป็นในขณะรถล็อกอยู่ก็ตาม ให้ใช้ตู้จดหมายที่สามารถล็อกได้ หรือใช้ตู้จดหมายที่ไปรษณีย์ หากคุณเป็นผู้รับไปรษณียภัณฑ์เป็นจำนวนมากเป็นประจำ
ให้ย่อยหรือทำลายเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลทุกชิ้น
ระมัดระวังในสิ่งที่คุณพูดในที่สาธารณะ - โจรที่ขโมยข้อมูลส่วนตัวสามารถได้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณได้อย่างง่ายดาย โดยการแอบฟังบทสนทนาทางมือถือของคุณ และบทสนทนาของคุณกับเพื่อนๆ
4 การเริ่มงานใหม่
ให้มอบหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (TFN) ของคุณกับนายจ้างคนใหม่ หลังจากที่คุณได้เริ่มต้นงานใหม่นั้นๆ แล้วเท่านั้น
ระวังเล่ห์กลลวงของการว่าจ้างงาน - เล่ห์กลลวงเหล่านี้ มีไว้เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และ/หรือข้อมูลทางการเงินของคุณ การโฆษณาเหล่านี้อาจมาในรูปอีเมล คำโฆษณาบนกระดานประกาศหรือทางออนไลน์ พวกนี้อาจเป็นฉากหน้าของการฟอกเงินก็ได้
สัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นว่า การเสนอว่าจ้างงานนั้นๆ อาจเป็นกลลวงได้ ได้แก่
เพียงเพราะการโฆษณาแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ไม่ได้หมายความว่าโฆษณานั้นมาจากบริษัทนั้นจริง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีชื่อเสียง และ/หรือที่มีขนาดใหญ่ จะไม่ใช้ที่อยู่อีเมลแบบฟรีในการโฆษณาของบริษัท
หากคุณมีความกังวล ให้หมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ และ
- อย่าคลิกลิงค์ใดๆ ในโฆษณาหรืออีเมล
- ใช้เวลาในการค้นหารายละเอียดอย่างเป็นทางการของบริษัทตามหนังสือโทรศัพท์หน้าขาว (White Pages) และโทรศัพท์สอบถามบริษัทเกี่ยวกับตำแหน่งงานนั้นๆ
5 ห้ามแชร์หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีบนสื่อโซเชียลเด็ดขาด
หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (TFN) ของคุณนั้น เป็นของคุณตลอดชีวิต มีบุคคลบางคนเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะถามหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณได้ ซึ่งได้แก่ กรมสรรพากร หน่วยงานขององค์กรรัฐอื่นๆ เช่น เซ็นเตอร์ลิงค์ กองทุนซุปเปอร์ของคุณ ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน
6 ให้เปลี่ยนรหัสผ่านใดๆ ที่คุณได้เคยแชร์ไป
รหัสผ่านควรเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะสำหรับคุณเอง ทางที่ดีที่สุดในการปกป้องตนเองก็คือ ห้าม แชร์รหัสผ่านเด็ดขาด แต่หากคุณเคยแชร์รหัสผ่านของคุณไปแล้ว ให้แน่ใจว่า คุณได้เปลี่ยนและอัปเดตรหัสผ่านเหล่านั้นอยู่เป็นประจำ
7 ปกป้องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของคุณ
ใช้เวลาในการติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของคุณ
8 ให้แน่ใจได้ว่า ตัวแทนยื่นภาษีของคุณนั้น เป็นตัวแทนที่จดทะเบียนแล้ว
คุณสามารถตรวจสอบด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อดูว่าตัวแทนการยื่นภาษี(Tax Agent) ของคุณนั้น เป็นตัวแทนที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ โดยไปที่เว็บไซต์ของคณะกรรมการผู้ปฏิบัติการด้านภาษี (Tax Practitioners Board) ที่ tpb.gov.au/onlineregisterExternal Link
ข้อควรจำ
มีเพียงตัวแทนยื่นภาษีที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้น ที่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากคุณได้ในการเตรียมการและยื่นแบบภาษีเงินได้ของคุณ
เราจะช่วยคุณได้อย่างไร
รีบแจ้งเราทันที หากหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (TFN) ของคุณสูญหายหรือถูกขโมย
- หากหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณสูญหาย และคุณไม่คาดว่าจะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โทรศัพท์หาเราได้ที่ 13 28 61 วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 8.00 - 18.00 น.
- หากหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณถูกขโมยหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โทรศัพท์หาเราได้ที่ 1800 467 033 วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 8.00 - 18.00 น.
- หากคุณพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง และต้องการสนทนากับเจ้าหน้าที่สรรพากร กรุณาโทรศัพท์ไปที่ฝ่ายบริการแปลและล่าม (Translating and Interpreting Service) ที่หมายเลข 13 14 50 เพื่อขอให้ช่วยเหลือท่านทางโทรศัพท์
หากคุณคิดว่าข้อมูลของคุณอาจอยู่ในความเสี่ยง และคุณอาจกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรมข้อมูลส่วนบุคคล เราสามารถช่วยคุณได้โดยการสอดส่องการใช้งานหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ
ข้อควรจำ
- การใช้หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้อื่น การใช้หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณในทางที่ผิด หรือการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ และการ 'ซื้อ' หรือ 'ขาย' หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ล้วนเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลให้มีการปรับหนักหรือจำคุก
- หากคุณมีสิทธิ์ในการเข้าถึงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึง หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของพวกเขา คุณจะต้องเก็บรักษาข้อมูลนั้นๆ ไว้อย่างปลอดภัย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาอังกฤษ หาอ่านได้ที่หน้าเว็บต่อไปนี้ บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ ato.gov.au
- Identity theft – help from the ATO
- Online security
- Watch out for scams – protect yourself
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษี และซุปเปอร์ในภาษาของคุณ กรุณาไปที่เว็บไซต์ ato.gov.au/otherlanguages
Information relating to identity crime and protecting yourself from identity crime.